วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557

หน่วยที่ 3 การออม

                                                                           หน่วยที่ 3 การออม
สาระสำคัญ
                บุคคลเมื่อมีรายได้เพิ่ม  หรือมีการใช้จ่ายเงินน้อยลง  เพื่อต้องการเก็บเงินที่เหลือไว้เป็นเงินออมสำหรับใช้ในอนาคต  แต่ถ้าการออมนั้นยังไม่ได้นำออกไปใช้จ่ายก็อาจจะนำไปแสวงหาผลประโยชน์ให้เกิดรายได้งอกเงยขึ้น  ดังนั้นการออมที่ดีจึงเป็นการลงทุนที่ดีด้วยการออมที่นิยมได้แก่ การฝากธนาคาร  การนำเงินไปซื้อตราสารการเงินเพราะเกิดความปลอดภัยและยังได้รับดอกเบี้ยหรือผลกำไรเป็นผลตอบแทน       
ความหมายของการออม
                เงินออม หมายถึง ส่วนของรายได้ที่เหลืออยู่ หรือที่กันเอาไว้ไม่นำมาใช้จ่ายในการบริโภคและอุปโภคในปัจจุบัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายในอนาคต เช่น ในยามป่วยไข้ เมื่อแก่ชราหรือลงทุน เป็นต้น ถ้าเก็บไว้กับตัวเองเฉย ๆ เช่น ใส่ตุ้มฝังดินไว้ หรือเก็บใส่ตู้นิรภัยไว้ เงินจำนวนนี้จะไม่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจนกว่าจะได้มีการนำมาใช้จ่ายเกิดขึ้น การเกิดเงินในลักษณะนี้เรียกว่า "Hoarding" เงินออมไม่จำเป็นต้องถูกเก็บไว้เฉย ๆ ในรูป Hoarding เสมอไป เพราะนอกจากจะไม่ให้ประโยชน์งอกเงยแล้วยังอาจจะขาดทุนอีกด้วย ในภาวะเงินเฟ้อ เงินที่เก็บอยู่เฉย ๆ จะมีค่าลดน้อยลงไปทุกที เมื่อราคาของสินค้าและบริการสูงอยู่ตลอดเวลา อำนวยของเงินจะลดลงเรื่อย ๆ เป็นอัตราส่วนกลับกับอัตราเงินเฟ้อ คนในสมัยนี้ เมื่อรายได้มากกว่ารายจ่ายและมีเงินออมจึงไม่นิยมเก็บใส่ไหฝังดินไว้ หรือเก็บใส่ไว้ใต้หมอนอีกต่อไป แต่หาทางทำให้เงินออมนั้นเกิดประโยชน์ อาจจะด้วยการนำไปฝากไว้กับสถาบันการเงิน ผู้ฝากเงินจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยและสถาบันการเงินที่รับฝากเงินจะนำเงินนั้นไปให้ผู้ลงทุนหรือผู้บริโภคกู้ต่อไป บางครั้งจึงเรียกการนำเงินออมไปฝากสถาบันการเงินว่า เป็นการลงทุนทางอ้อม ในบางกรณีผู้มีเงินออมอาจจะทำการลงทุนเพื่อประกอบธุรกิจเองก็ได้ ในกรณีนี้ถือเป็นการลงทุนทางตรง
วัตถุประสงค์ของการออม
                1. สร้างหลักประกันชีวิตในระหว่างยังทำงานและความมั่นคงทางด้านการเงิน
                2. เพื่อให้มีเงินไว้ใช้ในวัยชราไม่เป็นภาระต่อลูกหลานและสังคม
                3. เพื่อไว้ใช้ทางด้านการศึกษาในการนำมาสร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและสร้างเงินในอนาคต
                4.เพื่อไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานและสังคม
                5. เพื่อเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพหรือเปลี่ยนอาชีพ
                6. เพื่อไว้ใช้จ่ายนอกเหนือจากรายจ่ายประจำ
                7. เพื่อไว้ใช้ยามฉุกเฉินและยามเจ็บป่วย
หลักการออม
                ผู้บริโภคส่วนมากมีความคิดที่จะออมทรัพย์เพื่อไว้ใช้จ่ายในอนาคตแต่มีเฉพาะบางคนเท่านั้นที่สามารถจะทำการออมทรัพย์ดังที่ตนปรารถนาได้ ฉะนั้น ผู้บริโภคควรจะต้องรู้จักวิธีการออมทรัพย์ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง และต่อระบบเศรษฐกิจส่วนรวม ซึ่งผู้บริโภคจะต้องปฏิบัติตามหลักการออมทรัพย์ 3 ประการ ดังนี้
                1.   รู้จักเพิ่มพูนรายได้ ผู้บริโภคต้องมีความกระตือรือร้น ขยันขันแข็ง มานะอดทนในการประกอบอาชีพรู้จักหาทางเพิ่มพูนรายได้ตลอดเวลา เพราะโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ผู้ที่มีรายได้มากย่อมมีโอกาสออมทรัพย์ได้มากกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย
2.    รู้จักใช้จ่ายเงินอย่างประหยัดและฉลาด ผู้บริโภคควรจะได้มีการวางแผนการใช้เงินและปฏิบัติตามแผนอย่างมีประสิทธิภาพนอกจากนี้ยังจะต้องฝึกให้สมาชิกในครอบครัวรู้จักการใช้เงิน และประหยัดจนเป็นนิสัยและมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำการออมทรัพย์ หากทำได้เช่นนี้แล้วครอบครัวก็จะมีเงินออมไว้ใช้จ่ายในอนาคตตามต้องการ
3.   รู้จักสงเคราะห์ผู้อื่น หรือสังคมเท่าทีจำเป็นทั้งนี้เพราะผู้บริโภคทุกคนต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทุกคนก็ควรจะมีรายได้เพื่อสังคมบ้างตามความจำเป็น เช่น เพื่อการกุศล ได้แก่ งานศพ งานบวชนาค ช่วยผู้ประสบอุทกภัย เป็นต้น หรือเพื่อสาธารณประโยชน์ ได้แก่ ออมเงินซ่อมถนนหรือ ซอยเข้าหมู่บ้าน ออกเงินซื้อเครื่องดับเพลิง เป็นต้น
ปัจจัยที่มีผลต่อการออม
                1.  รายได้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดขีดความสามารถในการออมทรัพย์ของผู้บริโภคโดยปกติผู้มีรายได้ย่อมมีเงินเหลือและออมได้มากกว่า ผู้ที่มีรายได้น้อย
2.  ค่าใช้จ่าย เป็นปัจจัยสำคัญอีกอันหนึ่งในการกำหนดขีดความสามารถในการออมทรัพย์ค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคแต่ละคน หรือแต่ละครอบครัวขึ้นอยู่กับนิสัยการใช้เงิน จำนวนสมาชิกในครอบครัว สุขภาพของคนในครอบครัวโดยทั่วไปแล้ว ถ้าบุคคลหรือครอบครัวใดมีค่าใช้จ่ายมาก จะทำให้มีเงินเหลือน้อย และออมทรัพย์ได้น้อย
3.  สถาบันการลงทุน สถาบันอำนวยความสะดวกแก่ผู้ออมทรัพย์มากน้อยเพียงใด หากให้บริการดี มีความมั่นคงสูง ก็จะเป็นแรงจูงใจให้มีผู้ออมทรัพย์มากขึ้น
4. อัตราดอกเบี้ยถ้าหากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูง ก็จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลง และนำเงินมาออมทรัพย์มากขึ้น
5. โอกาสในการลงทุน ถ้ามีโอกาสมากในการลงทุนและมีผลตอบแทนดี ก็จะเป็นการจูงใจให้มีการออมมากขึ้น
6. ขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างมีอิทธิพลต่อการใชจ่ายและการออมทรัพย์ได้มากเช่นกันขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างทำให้มีการใช้จ่ายเงินกันมา เช่น งานบวชนาค งานศพ งานแต่งงานในบางท้องที่มีการแข่งขันกันมาก ต้องจัดงานเลี้ยงหลายวัน มีมหรสพ เลี้ยงกันทั้งหมู่บ้านใช้จ่ายเงินที่เก็บหอมรอมริบมาหลายปีจนหมด บางรายถึงกับต้องเป็นหนี้เป็นสินไปอีกนาน
ประโยชน์ของการออม
1. ประโยชน์ต่อตนเอง
                1.1 มีความอบอุ่นใจและไม่มีความกังวลใจเรื่องต่างๆ สามารถเตรียมพร้อมมีเหตุการฉุกเฉิน ทำให้มีสุขภาพจิตดี
                1.2 ผู้บริโภคอาจใช้เงินซื้อสิ่งของที่มีมูลค่าสูง และมีคุณภาพดี มาใช้ตามความพอใจได้
                1.3 เป็นการสร้างความมั่นคงในการดำเนินชีวิตและครอบครัว
                1.4 สามารถนำเงินไปลงทุนในกิจการ เพื่อให้เกิดรายได้เพิ่มเติมขึ้นได้
2. ประโยชน์ส่วนรวม
               2.1  เพื่อให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะสถาบันการเงินที่ผู้บริโภคเอาเงินไปฝากนั้น จะนำไปให้พ่อค้าแม่ค้าและนักธุรกิจกู้เพื่อเอาไปลงทุนอีกต่อหนึ่ง เมื่อผู้บริโภคออมทรัพย์มาก ปริมาณการลงทุนก็มากด้วย
                2.2  เมื่อมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ประชาชนก็มีงานทำ มีรายได้มากขึ้น มาตรฐานการดำรงชีพของประชาชนจะดีขึ้น
                2.3  เมื่อประชาชนมีความกินดีอยู่ดีแล้ว เศรษฐกิจและสังคมของประเทศจะดีขึ้น
              2.4  ทำให้เกิดความสมดุลทางการค้า และการชำระเงินกับต่างประเทศ เพราะสามารถผลิตสินค้าเพื่อส่งไปขายต่างประเทศได้มากขึ้น และมีความจำเป็นต้อง ซื้อจากต่างประเทศน้อยลง
สถาบันการเงินเพื่อการออม
สถาบันการเงิน หมายถึง สถาบันที่ทำธุรกิจในรูปของการกู้ยืมและให้กู้ยืม หรือเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ให้กู้และผู้ขอกู้ โดยอาศัยเครื่องมือหรือตราสารทางการเงินและรับภาระการเสี่ยงจากการให้กู้ยืมแทน ส่วนรายได้จากสถาบันการเงินมาจากความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจากผู้ขอกู้ และอัตราดอกเบี้ยซึ่งต้องจ่ายให้แก่ผู้ให้กู้
สถาบันการเงินสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1.สถาบันการเงินในระบบ เป็นสถาบันการเงินที่ถูกตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับควบคุมการดำเนินงานของสถาบันการเงินในแต่ละประเภท
2.สถาบันการเงินนอกระบบ เป็นสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ไม่มีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับควบคุมการดำเนินงาน เช่น การกู้ยืมกันโดยตรง การเล่นแชร์ สินเชื่อทางการค้า การซื้อขายลดเช็ค เป็นต้น สถานบันการเงินนอกระบบมีลักษณะที่แตกต่างกันไปหลายรูปแบบและยากต่อการเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งในทางข้อเท็จจริงแล้วอาจไม่เรียกว่าเป็นสถาบันการเงินก็ได้ เพราะกฎหมายมิได้รับรอง
สถาบันการเงินจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ดังนี้
1. ประเภทของสถาบันการเงินที่พิจารณาตามอายุของหลักทรัพย์ที่สถาบันการเงินนั้นได้ออกหรือทำการซื้อขาย แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1.1 สถาบันการเงินในตลาดเงิน เป็นสถาบันการเงินที่ออกหลักทรัพย์และซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีอายุครบกำหนดไม่เกิน 1 ปี ซึ่งเป็นการให้กู้ยืมเงินในระยะสั้น ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และบริษัทเงินทุนบางบริษัทที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงินอายุครบกำหนดไม่เกิน 1 ปี หรือบริษัทเงินทุนบางบริษัทที่รับซื้อลดตราสารพาณิชย์หรือตราสารทางการเงินอื่นๆ ที่มีอายุครบกำหนดไม่เกิน 1 ปี เช่น ตราสารพาณิชย์และตราสารของบริษัทเงินทุน การกู้เงินโดยการเบิกบัญชี บัตรเงินฝาก และตั๋วเงินคลัง
1.2 สถาบันการเงินในตลาดหุ้น เป็นสถาบันที่ออกหลักทรัพย์และการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีอายุกำหนดมากกว่า 1 ปี ซึ่งเป็นการให้กู้ยืมในระยะยาว โดยใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีอายุครบกำหนดเกิน 1 ปี เป็นต้น
2.ประเภทของสถาบันการเงินที่พิจารณาตามหน้าที่และลักษณะการดำเนินกิจกรรมหลักของสถาบันการเงินภายใต้กรอบของกฎหมาย แบ่งเป็น 4 ประเภท
2.1 สถาบันการเงินเกี่ยวกับการรับฝากเงิน เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่หลักในการระดมทุนส่วนใหญ่ โดยวิธีการรับฝากเงินจากประชาชนประเภทต่างๆ เช่น เงินฝากเผื่อเรียก เงินฝากสะสมทรัพย์ และเงินฝากประจำ เงินทุนที่ระดมได้อาจจะนำไปใช้ลงทุนหรือให้กู้ยืมใบขอบเขตที่กฎหมายกำหนดให้หรืออาจจะเป็นการให้กู้เพื่อการลงทุนในธุรกิจ ให้กู้เพื่อการบริโภค เพื่อการเคหะ หรืออาจนำไปลงทุนในหลักทรัพย์อื่นๆ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
2.2 สถาบันการเงินที่มีสัญญาผูกพันกับแหล่งเงินทุน เป็นสถาบันที่สร้างเครื่องมือทางเครดิตที่มีลักษณะเป็นสัญญาผูกพันกับเจ้าของเงินทุนหรือผู้ออม เช่น บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันภัยอื่นๆ กองทุนบำนาญ กองทุนสะสม เงินทุนที่ระดมได้จะนำไปให้กู้หรือนำไปลงทุนในโครงการต่างๆ ที่มีระยะเวลายาวเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนสูงขึ้น
2.3 สถาบันการเงินที่ระดมทุนโดยการออกเครื่องมือทางการเงิน เช่น การออกหุ้นกู้ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตราสารที่มีลักษณะเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนได้นำเงินมาซื้อเครื่องมือดังกล่าวเพื่อการออมทรัพย์ ได้แก่ บริษัทเงินทุนต่างๆ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ กองทุนรวม โดยสถาบันการเงินเหล่านี้จะนำเงินไปให้กู้ยืมเพื่อการบริโภค การผลิต และนำไปลงทุนในหลักทรัพย์อื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
2.4 สถาบันการเงินที่มีหน้าที่หลักในการให้กู้ เป็นสถาบันที่ให้กู้ยืมโดยใช้เงินทุนส่วนใหญ่มาจากการเงินทุนของเจ้าของ จากการขายหุ้น และจากการกู้ยืมทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โรงรับจำนำ
สถาบันการเงินในประเทศไทย
1. ธนาคารพาณิชย์
2. บริษัทเงินทุน
3. บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
4. ธนาคารออมสิน
5. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
6. ธนาคารอาคารสงเคราะห์
7. บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
8. บรรษัทธนกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อม
9. สหกรณ์การเกษตร
10. สหกรณ์ออมทรัพย์
11. บริษัทประกันภัย
12. โรงรับจำนำ
ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นสถาบันการเงินที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีเจ้าหน้าที่จัดการดูแลระบบการเงินของประเทศให้มีความมั้นคง
สถาบันการเงินเป็นองค์กรที่ทำทางด้านการเงินโดยส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางการระดมเงินออมจากกลุ่มหนึ่งแล้วมาปล่อยกู้ให้แก่คนอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อการบิรโภท การลงทุน หรือประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างสถาบันการเงินเหล่านี้มีหลายประเภท ทั้งที่เป็นสถาบันการเงินประเภทธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร
Source: tulip.bu.ac.th/~sumanee.p/download/ec314/EC314_Chapter6-1.doc
ปัจจัยในการเลือกสถานบันการเงินเพื่อการออม
                 - เป็นสถาบันการที่มีความมั่นคงและปลอดภัย 
                - ให้ผลตอบแทนมากและแน่นอน
                - เป็นสถาบันการเงินที่มีสภาพคล่องสูง( การหมุนเวียนของเงินที่จะนำมาจ่ายคืนเงินออมรวดเร็ว )
                - เกิดภาระภาษีจากผลตอบแทนของเงินออมไม่สูงเกินไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น